ข่าวประชาสัมพันธ์
สำนักการแพทย์
514 ถนนหลวง เขตป้อมปราบฯ กรุงเทพมหานคร 10100
โทร 0 2622 5047 โทรสาร 0 2224 2969

Description: D:\พี่จ๋า(พรเพ็ญ)\Bangkok Health Fair\Bangkok Health Fair 2010\BHF 2010 - 1 ต.ค. 53 - 2\BHFอื่นๆ\logo ทั้งชีวิต...เราดูแล\Logo ทั้งชีวิต เราดูแล.jpg

กทม.จับมือ สปสช. ให้บริการสาธารณสุขแบบ New Normal
เปิด 3 บริการใหม่ป้องกันโควิด-19

กทม.จับมือ สปสช. เดินหน้าให้บริการสุขภาพแบบ New Normal เปิด 3 บริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19 เจาะเลือดผู้ป่วยถึงบ้าน พบแพทย์ผ่าน Telemedicine แล้วไปรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้เลยโดยไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ไม่เสียเวลารอคอย ไม่เสี่ยงโควิด-19 เบื้องต้นเน้นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน ผู้สูงอายุ ผู้พิการและทุพพลภาพ
(23 ก.พ.64) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ประธาน) เปิดโครงการบริการสุขภาพวิถีใหม่ (New Normal) ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยงานบริการสังกัดกรุงเทพมหานคร ณ ห้องประชุมพิทยรักษ์ ชั้น 4 อาคารสำนักการแพทย์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย
กรุงเทพมหานคร (กทม.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวเปิด 3 บริการสุขภาพ       วิถีใหม่ (New Normal) ป้องกันโควิด-19 ในหน่วยบริการสังกัด กทม. เริ่มต้นที่โรงพยาบาลในสังกัดทั้ง 9 แห่ง ซึ่งได้เริ่มเปิดให้บริการไปแล้ว โดย 3 บริการดังกล่าวประกอบด้วย บริการเจาะเลือดถึงบ้าน บริการรักษาทางไกลผ่านระบบ Telemedicine และบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการลดความแออัดและลดความเสี่ยงของผู้ป่วยที่อาจสัมผัสเชื้อในพื้นที่โรงพยาบาล
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า โรงพยาบาลในสังกัด กทม. มีผู้มารับบริการเป็นจำนวนมาก เฉลี่ยการให้บริการผู้ป่วยนอก 3.9 - 4 ล้านครั้ง/ปี ผู้ป่วยในปีละประมาณ 1 แสนราย ส่วนมากป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ส่งผลให้โรงพยาบาลเกิดความแออัด ประชาชนที่มารับบริการต้องรอคิวนาน ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้ป่วยที่มารับบริการเสี่ยงต่อการสัมผัสเชื้อ

 

ด้วยเหตุนี้ กทม. จึงได้พัฒนารูปแบบบริการในเชิงรุก ลงไปให้บริการผู้ป่วยถึงบ้านและในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่มีความลำบากในการเดินทาง ลดการมารอพบแพทย์จนเกิดความแออัดที่โรงพยาบาล อีกทั้งเป็นบริการสุขภาพแบบ New Normal ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยซึ่งมีความอ่อนไหวทางสุขภาพอยู่แล้วอาจสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 ได้ ทั้งในระหว่างเดินทางหรือในโรงพยาบาลก็ตาม ขณะเดียวกัน ก็ยังได้รับคุณภาพมาตรฐานการรักษาเทียบเท่าการมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเช่นกัน
ผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ในส่วนของโครงการเจาะเลือดถึงบ้าน จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องหรือจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ ประกอบด้วยกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้พิการและทุพพลภาพ และผู้ที่มีภาวะเสี่ยงโรคอ้วน ทั้งนี้แพทย์เป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมผู้ป่วยก่อน ส่วนขั้นตอนการเจาะเลือดนั้น นักเทคนิคการแพทย์จะนัดหมายรับข้อมูลผู้ป่วย แผนที่บ้านพร้อมอุปกรณ์เก็บสิ่งส่งตรวจ จากนั้นจะโทรประสานนัดหมายและเดินทางไป       เจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจถึงบ้าน แล้วนำส่งไปยังห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลเพื่อตรวจวิเคราะห์ผลต่อไป
ผู้ว่าฯ กทม. เพิ่มเติมว่า ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการปกติและแพทย์เห็นสมควร ก็สามารถรับบริการรักษาทางไกลหรือ Telemedicine ได้ ข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการจะถูกส่งต่อให้แพทย์เพื่อใช้ในการวินิจฉัย และติดต่อสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านระบบ Video Call
นอกจากการเจาะเลือดหรือเก็บสิ่งส่งตรวจที่บ้านและพบแพทย์ผ่านระบบ Telemedicine แล้ว ยังมีบริการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือทางไปรษณีย์ โดยหลังจากที่แพทย์วินิจฉัยข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซักถามอาการจากผู้ป่วยผ่าน  Video Call และสั่งจ่ายยาแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จะถูกส่งไปที่ห้องยาของโรงพยาบาล ทางเภสัชกรจะแพ็คยาแล้วจัดส่งไปยังร้านยาที่อยู่ใกล้บ้านผู้ป่วยหรือที่บ้านผู้ป่วยทางไปรษณีย์ ทำให้ผู้ป่วยสามารถเดินทางไปรับยาที่ร้านยาหรือรอรับยาที่บ้านได้เลยโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล
"ทั้ง 3 โครงการนี้เป็นบริการสุขภาพแบบ New Normal ที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลเลย มีความสะดวก  ไม่เสียเวลารอคอย และลดทั้งความแออัดในโรงพยาบาลและความเสี่ยงที่จะสัมผัสเชื้อโควิด-19 โดยเบื้องต้นจะเน้นผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิกในกลุ่มโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ในโรงพยาบาลในสังกัด กรุงเทพมหานคร ทั้ง 8 แห่ง ประกอบด้วย โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์           ชุตินฺธโร อุทิศ โรงพยาบาลเวชการุณย์รัศมิ์ โรงพยาบาลลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาล   สิรินธร และ โรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน" พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

 

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า      การจัดบริการสุขภาพแบบ New Normal เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่ สปสช. เน้นหนักในปี 2564 โดยได้นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และต่างจังหวัด ทั้งนี้ขอแสดงความชื่นชม กทม. ที่เห็นความสำคัญและจัดบริการในลักษณะนี้ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ลดความแออัดในโรงพยาบาลและลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด-19 เป็นอย่างมาก ในส่วนของ สปสช.เองก็มีการปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแก่หน่วยบริการเพื่อสนับสนุนให้บริการสุขภาพแบบ New Normal เกิดขึ้นได้จริง ประกอบด้วย การปรับระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการเจาะเลือดและเก็บสิ่งตรวจนอกหน่วยบริการ ในระยะแรกเน้นเจาะเลือดในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี เป็นหลักก่อน       ซึ่งการเจาะเลือดนอกหน่วยบริการนี้จะช่วยลดระยะเวลาการรอคอยในโรงพยาบาลได้  2-5 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน สปสช.ยังได้พัฒนาการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการระบบสาธารณสุขทางไกล หรือ Telemedicine       โดยเน้นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายเก่าที่มีอาการคงที่ สามารถควบคุมโรคได้ดี แพทย์สามารถตรวจรักษาผ่านระบบทางไกลได้ ไม่จำเป็นต้องเดินทางมาหาถึงโรงพยาบาล โดย สปสช.กำหนดอัตราจ่ายแก่หน่วยบริการสำหรับบริการ Telemedicine      ในส่วนขั้นตอนการรับบริการนั้น แพทย์จะเป็นผู้ประเมินอาการผู้ป่วยว่ามีอาการคงที่ พร้อมที่จะรับการรักษาผ่านระบบ Telemedicine หรือไม่ หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีความพร้อมก็จะแจ้งให้ทราบและสอบถามความสมัครใจเข้าร่วมโครงการ จากนั้นพยาบาลจะติดต่อชี้แจงข้อตกลง วิธีการตรวจทางไกลและนัดหมายผู้ป่วย
"ขั้นตอนก็ไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่รองรับได้ จากนั้นดาวน์โหลดแอปพลิเคชันตามที่โรงพยาบาลกำหนดมาไว้ในเครื่อง การรับบริการทางเจ้าหน้าที่จะทำการยืนยันตัวตนผู้ป่วย ตรวจสอบสิทธิการรักษา จัดเตรียมประวัติการรักษาและนัดหมายเวลาพบแพทย์ให้ เมื่อถึงเวลานัดก็ทำการเชื่อมต่อวิดีโอคอลกับแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว
ทั้งนี้ ในขั้นตอนการรับยา สปสช.มีโครงการรับยาใกล้บ้านและรับยาทางไปรษณีย์ ซึ่งดำเนินการมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ปัจจุบันมีร้านยาในเขต กทม.  30 แห่ง ที่พร้อมให้บริการผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ซึ่งข้อดีอีกประการของการรับยาที่ร้านยาคือผู้ป่วยจะมีเวลาพูดคุยรับคำปรึกษาเรื่องยากับเภสัชกรได้นานกว่าที่โรงพยาบาล อีกทั้งเภสัชกรจะช่วยติดตามอาการเบื้องต้นและประเมินผลการใช้ยาให้อีกทางหนึ่งด้วย
"ทั้ง 3 โครงการนี้เป็นส่วนเติมเต็มซึ่งกันและกัน ทำให้การให้บริการสุขภาพแบบ New Normal มีประสิทธิภาพสูงสุด ผู้ป่วยได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐานโดยไม่ต้องเดินทางมาถึงโรงพยาบาล ช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ต้องเสียเวลา     รอคอย ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 ขณะเดียวกันก็ลดความแออัดที่โรงพยาบาลอีกทางหนึ่งด้วย" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

รูปภาพและบรรยากาศในงาน